ความรู้เกี่ยวกับฟิล์มกรองแสง

เทคนิคการเลือกฟิล์มกรองแสง
เมืองไทยเป็นเมืองร้อน ร้อยทั้งร้อย เมื่อมีรถใหม่ สิ่งแรกที่เจ้าของต้องติดตั้งเพิ่มเติม คือ ฟิล์มกรองแสง การเลือกฟิล์มกรองแสงสำหรับรถยนต์ โดยทั่วไปแล้ว เป็นเรื่องที่ไม่ยากเย็น แต่จะให้ประหยัดและคุ้มค่า ควรมีความเข้าใจพื้นฐานของระบบการทำงาน ของฟิล์มกรองแสง ซึ่งอาจจะช่วยให้ท่าน นำไปตัดสินใจได้ว่า จะเลือกอย่างไร จึงสมเหตุสมผล ปัจจุบันนี้พบว่า ส่วนหนึ่งคนซื้อยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน เกี่ยวกับฟิล์มกรองแสง โดยเฉพาะความเข้าใจระหว่างความทึบแสง กับความสามารถในการป้องกันความร้อน ความเข้าใจที่ว่า ฟิล์มที่มีสีเข้มหรือทึบ ช่วยลดความร้อนได้ดี ในความจริงแล้ว สีของฟิล์มไม่ได้เป็นตัวช่วยลดความร้อน แต่กลับเป็นสารเคลือบตัวอื่นๆที่ทำหน้าที่หลักนี้
รู้จักฟิล์มกรองแสง
ฟิล์มกรองแสง ทำจากพลาสติก โพลีเอสเตอร์ที่มีความเหนียว บาง เรียบ สามารถแนบสนิทเป็นเนื้อเดียวกับกระจก โดยยึดกระจกด้วยกาวที่มีความใส ดังนั้น เราจึงมองผ่านฟิล์มได้ชัดเจน ฟิล์มกรองแสงรถยนต์ที่ต้องการกันความร้อนนั้น ต่างไปกับฟิล์มลด แสงสว่างทั่วไป เพราะฟิล์มกรองแสงทั่วไป ย้อมสีเพื่อกรองแสงสว่างเท่านั้น ในขณะที่ฟิล์มกรองแสงที่กันความร้อน จะต้องลดรังสีอุลตราไวโอเลตได้ด้วย
ฟิล์มย้อมสี
เป็นฟิล์มที่มีคุณสมบัติในการลดแสงสว่าง ที่ผ่านเข้ามาทางกระจกเท่านั้น แต่ไม่ได้มีคุณสมบัติในการลดความร้อน หรือหากมีก็มีเพียงเล็กน้อย เมื่อมีการใช้งานไปสักระยะหนึ่ง ฟิล์มจะกลายสีเป็นสีม่วง ซึ่งให้ทัศนวิสัยในการขับขี่รถยนต์ที่ผิดเพี้ยน เป็นอันตราย แต่หากฟิล์มกรองแสงทั่วไปผลิตมาจากโพลีเอสเตอร์คุณภาพสูง จะมีคุณสมบัติในการลดรังสีอุลตราไวโอเลตด้วย
ฟิล์มกรองแสงลดความร้อนหรือฟิล์มโลหะ
เป็นฟิล์มกรองแสงที่มีคุณสมบัติ ในการลดความร้อนที่ผ่านเข้ามาทางกระจกได้ดี โดยอาศัยคุณสมบัติของไอโลหะ ที่เคลือบบนฟิล์มในการกรองความร้อน และสะท้อนความร้อน ซึ่งมีผลให้ความร้อนผ่านเข้ามาทางกระจกได้น้อยลง สีของฟิล์มที่ได้จะแตกต่างไป ตามประเภทของไอโลหะที่นำมาเคลือบ รวมทั้งยังสามารถย้อมสีของฟิล์มเพื่อให้ฟิล์มมีสีต่างๆ ได้ โดยปกติกระบวนการเคลือบไอโลหะมีขั้นตอนซับซ้อนและค่าใช้จ่ายสูง
กาวสะท้อนคุณภาพฟิล์ม
ฟิล์มกรองแสงที่ดี จะต้องพิจารณาจากคุณสมบัติของกาวด้วย กาวที่ดีต้องมีความบางใส และเหนียว เมื่อติดแล้วต้องทนทานต่อสภาวะความร้อนเย็นของกระจก ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ยึดติดกับกระจกได้ดีไม่ทำให้ฟิล์มกรองแสงนั้นๆ พอง ลอก ล่อน เป็นฟองอากาศ อีกทั้งกาวที่ดี ควรมีคุณสมบัติที่ติดแน่นกับเนื้อฟิล์ม เมื่อต้องการลอกฟิล์มออกมา กาวควรอยู่บนด้านฟิล์ม มิใช่ด้านกระจก รวมทั้งกาวจะต้องไม่เปลี่ยนสี ซึ่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนสีของฟิล์มที่ติด ที่เรียกว่าฟิล์มเป็นสนิม นอกจากนี้ ฟิล์มที่ดีจะต้องป้องกันรอยขีดข่วน หรือเคลือบสารกันรอยขีดข่วน ฟิล์มกรองแสงทำมาจากโพลีเอสเตอร์ มีจุดอ่อนในเรื่องความอ่อนของผิว ซึ่งมักสามารถเป็นรอยเส้นคล้ายรอยขนแมวได้ง่าย เมื่อมีการขีดข่วนจากการใช้งานปกติ 

แต่ปัจจุบันได้มีการคิดค้นสารเคมี ที่ทำหน้าที่เคลือบแข็งบนผิวของฟิล์ม ทำหน้าที่ในการป้องกันการขีดข่วนจากการใช้งานปกติ คุณสมบัตินี้ ทำให้ฟิล์มมีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น และดูสวยงามตลอดอายุการใช้งาน จำไว้ว่าฟิล์มกรองแสงที่ดีไม่ใช่ฟิล์มที่ช่วยลดแสงจ้าได้เพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีความสามารถในการสะท้อนแสงอาทิตย์ได้ ทำให้ผู้ใช้รู้สึกสบายในการขับขี่ รวมทั้งช่วยประหยัดพลังงาน ในการทำงานของเครื่องปรับอากาศในรถด้วย ซึ่งการเลือกฟิล์มที่มีค่า SHADING COEFFICENT (SC) ต่ำๆ ยังมีส่วนช่วยลดพลังงานที่ใช้ในการปรับอากาศได้ และที่สำคัญ ต้องเป็นฟิล์มที่มีความปลอดภัยสามารถยึดเกาะกระจกได้